พูดถึงกล้องราคาสูงลิ่วอย่าง Leica ชนิดที่ว่าแค่ราคาบอดี้ที่ไม่รวมเลนส์ก็ปาไปหลักแสนแล้ว หากถามถึงเหตุผลที่ว่า Leica ดีกว่ากล้องแบรนด์อื่นอย่างไร ก็น่าจะให้คำตอบได้ยาก หลายคนอาจจะบอกว่าเพราะประวัติความเป็นมาของแบรนด์ที่มีมาอย่างยาวนาน คุณภาพของการใช้งานที่จัดได้ว่าเป็นกล้องของมืออาชีพ หรืออาจจะบอกว่าเป็นกล้องที่มีมาตรฐานการผลิตละเอียดและประณีตแบบชิ้นต่อชิ้น
แต่นั่นก็ไม่ใช่คำตอบที่ตายตัวอยู่ดี เพราะทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับความชอบ และการใช้งานของแต่ละบุคคล ซึ่ง Leica ก็มักจะถูกเปรียบเทียบความสามารถกับกล้องแบรนด์อื่นๆ และมองว่าจุดแตกต่างของ Leica คือการเป็นกล้องที่สะท้อนไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้งานมากกว่า ในส่วนของคำตอบของคำถามที่ว่า Leica ดีอย่างไร ทำไมราคาถึงสูงลิ่วขนาดนั้น ก็คงจะมีแต่ผู้ใช้ Leica เท่านั้นที่รู้
Alberto Korda – Leica M2

‘อัลเบอร์โต กอร์ดา’ ช่างภาพชาวคิวบา ที่เริ่มต้นเข้าสู่วงการถ่ายภาพด้วยการเป็นผู้ช่วย ก่อนที่จะมาเป็นช่างภาพแบบเต็มตัวด้วยความฝันที่อยากจะถ่ายภาพเพื่อให้คนทั้งโลกเห็น โดยผลงานที่โด่งดังของเขา คือภาพถ่ายพอร์ตเทรตของ ‘เช เกบารา’ นักปฏิวัติเพื่อเสรีภาพของโลก ซึ่งภายหลังภาพเชที่กอร์ดาถ่าย ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติทั่วโลก รูปนี้กอร์ดาถ่ายโดยใช้ ‘Leica M2’ และเลือกใช้เลนส์ 90 มม. เพื่อให้ได้ภาพของเชในแบบโคลสอัพ
Alfred Eisenstaedt – Leica III

‘อัลเฟรด ไอเซนชเต็ดท์’ ช่างภาพชาวเยอรมนีที่อาศัยในสหรัฐอเมริกา เขาเริ่มต้นอาชีพช่างภาพประกอบข่าวตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ประเทศเยอรมนีก่อนจะย้ายมาเป็นช่างภาพประจำนิตยสาร ‘Life’ ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งหนึ่งในผลงานการถ่ายปกนิตยสารที่โด่งดังของอัลเฟรด คือภาพ ‘V-J Day in Times Square’
ในระหว่างที่เขากำลังมองหาเรื่องราวระหว่างการเฉลิมฉลองที่ญี่ปุ่นยอมแพ้ต่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ไทม์สแควร์ นิวยอร์กเพื่อจะเล่าในนิตยสาร Life ทันใดนั้นเขาก็พบกับทหารเรือหนุ่มที่คว้าเอวหญิงสาวแปลกหน้า และก้มลงจุมพิตเธอ เขาจึงคว้ากล้องถ่ายภาพของเขาขึ้นมา ซึ่งในขณะนั้นกล้องถ่ายภาพที่เขาใช้คือ ‘Leica III’ กับเลนส์ 35 มม. และทำให้ภาพนี้ได้กลายเป็นภาพถ่ายแห่งศตวรรษที่ 20
Elliott Erwitt – IIf, IIIg, M3

‘เอลเลียต เออร์วิตต์’ ช่างภาพชื่อดังที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกอีกคนหนึ่ง โดยผลงานของเขาส่วนใหญ่จะเป็นฟิล์มขาวดำของคนดังและช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำ ถือเป็นภาพถ่ายที่ร่วมสมัยระดับมาสเตอร์พีซเลยทีเดียว นอกจากนี้เขายังสนุกกับการถ่ายภาพสุนัขอีกด้วย ผลงานของเขาจึงมักจะสะท้อนความสนุกสนาน และความเป็นคนมีอารมณ์ขันออกมา
ในช่วงเริ่มอาชีพช่างภาพ เขาเริ่มจากการใช้ Leica IIIf และ IIIg กับเลนส์ 50 มม. หลังจากนั้นในช่วงปี 1950 ก็เปลี่ยนมาเป็น Leica M3 แม้ว่าจะอัพเกรดตัวกล้อง แต่เขายังคงใช้เลนส์ 50 มม. เหมือนเดิม เพราะเป็นมุมมองในการมองภาพที่เขาชอบมากที่สุด แต่ก็มีบางครั้งที่เขาเปลี่ยนเป็นไปใช้เลนส์ 90 มม. ด้วยเช่นกัน
Robert Capa – Leica II Model D

‘โรเบิร์ต คาปา’ ช่างภาพข่าว และโด่งดังในฐานะช่างภาพสงคราม ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นช่างภาพที่ต้องต่อสู้และเสี่ยงภัยที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์วงการถ่ายภาพ ระหว่างการทำงานเขาต้องเสี่ยงชีวิตแบบนับครั้งไม่ถ้วนเพื่อให้ได้ภาพที่บันทึกช่วงเวลาและเหตุการณ์เอาไว้ เขาได้อยู่ในสงครามใหญ่ถึงห้าครั้ง และภาพถ่ายของเขาก็ได้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์และนิตยสารรายใหญ่
ซึ่งหนึ่งในกล้องถ่ายภาพคู่ใจของช่างภาพสงครามผู้โด่งดังคนนี้ก็คือ ‘Leica II (Model D)’ ที่เขาใช้ในการถ่ายภาพรายงานข่าวครั้งแรกในชีวิตช่างภาพข่าวของเขา
Henri Cartier-Bresson – Leica II

‘อ็องรี การ์ตีเย-แบรซง’ ช่างภาพชาวฝรั่งเศสที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นสุดยอดของการถ่ายแนวแคนดิด หรือการถ่ายภาพแบบสมจริง ไม่มีการจัดฉากใดๆ และเป็นช่างภาพคนแรกๆ ที่ใช้ฟิล์มขนาด 35 มม.เขายังเป็นผู้บุกเบิกการถ่ายรูปแนวสตรีทอีกด้วย โดยผลงานของเขาสร้างอิทธิพลให้กับช่างภาพคนอื่นๆ อย่างมาก
ซึ่งกล้องถ่ายภาพคู่ใจที่อ็องรีมักจะใช้ก็คือ ‘Leica II’ กับเลนส์ 35 มม. หรือ 50 มม. แต่หากเป็นการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ก็จะใช้เลนส์ที่กว้างขึ้น ซึ่งเทคนิคพิเศษของเขาคือการพันเทปไว้รอบตัวกล้องเพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจน ด้วยฟิล์มที่ดีและเลนส์ที่คมชัด ทำให้เขาสามารถถ่ายภาพเหตุการณ์ที่รวดเร็วจนแทบไม่มีใครสังเกตเอาไว้ได้ จนได้รับฉายาว่า ‘มือกำมะหยี่กับดวงตาเหยี่ยว’
Jeff Mermelstein – Leica M6

‘เจฟฟ์ เมอร์เมลสไตน์’ ช่างภาพข่าวและช่างภาพแนวสตรีท ที่มีชื่อเสียงจากผลงานที่ถ่ายวิถีชีวิตของผู้คนในนิวยอร์ก ซึ่งภาพถ่ายของเขาดูเป็นภาพถ่ายที่เรียบง่าย แต่สามารถถ่ายทอดถึงความเป็นเมืองนิวยอร์กได้อย่างดี
กล้องถ่ายภาพที่เจฟฟ์ใช้คือ ‘Leica M6’ คู่กับเลนส์ 35 มม. ของ Leica เช่นกัน เขามักจะใช้ Zone Focus ที่ช่วยให้กล้องฟิล์มจับโฟกัสได้ไว เพราะเวลาเขาเดินอยู่ตามถนนต่างๆ ต้องอาศัยความรวดเร็วในการถ่ายภาพ โดยภาพส่วนใหญ่ของเขามักจะถ่ายแบบไม่ได้ขออนุญาต และบ่อยครั้งที่คนในภาพก็จับได้ว่าเขากำลังถูกถ่ายภาพอยู่
References : 1 2 3 4 5 6
Photo Credit : 1