Hermès ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีค.ศ. 1837 โดยเทียร์รี่ แอร์เมส (Thierry Hermès)
ด้วยความตั้งใจแรกที่จะผลิตสินค้าอานม้าให้กับชนชั้นสูง และได้ส่งต่อธุรกิจมาสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน จนพัฒนามาเป็นการออกแบบผลิตสินค้าแฟชั่นตั้งแต่ เครื่องแต่งกาย ไปจนถึงกระเป๋า “Birkin Bag” รุ่นยอดนิยมที่คนทั่วโลกต่างตามหา
ปัจจุบันขึ้นแท่นแบรนด์หรูที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงเป็นอันดับสามของโลกอยู่ที่ 31,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 930,000 ล้านบาท และมีสาขามากกว่า 315 ร้านทั่วโลก (อ้างอิงจาก : www.hypebeast.com)
โดยปราศจากฝ่ายการตลาด
ความสำเร็จตลอด 182 ปี ของ Hermès จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่มาจากอะไรกัน ?
ความมั่นใจในตัวเอง
ไม่มีฝ่ายการตลาด เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลาหาสิ่งที่ลูกค้าชอบ เพราะเขาเชื่อในสไตล์ของตัวเอง และทำสิ่งที่เป็นตัวเองออกมาให้คนซื้อ พูดง่าย ๆ ว่า “ให้แบรนด์ขายตัวมันเอง”
ขาย ดีไซน์ งานฝีมือ ความคงทน และแบรนด์
กระเป๋า Hermès 1 ใบ ใช้ช่างฝีมือ 1 คน และต้องทำด้วยมือทั้งใบเป็นเวลากว่า 15 ชั่วโมง ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นที่ทำให้คนทั่วโลกต่างรู้จักแบรนด์ Hermès ในฐานนะ Craftsmanship หรือความปราณีตที่ไม่สามารถหาที่ไหนมาเทียบ
ไม่ใช่ใครก็ซื้อได้
ผลิตจำนวนจำกัด (Limited Edition) เพราะเขามองว่าจะผลิตกระเป๋าที่ดีที่สุดได้มากสุดกี่ใบ มากกว่าสนใจว่าลูกค้าอยากได้กี่คน แนวคิดนี้จึงทำให้ Hermès แตกต่างจากแบรนด์อื่น
ยกตัวอย่าง รุ่นที่ได้รับความนิยมมากสุดอย่าง Birkin Bag ที่ถูกผลิตออกมาในจำนวนจำกัดมาก ๆ ทำให้ราคาขายในช็อปมีตั้งแต่ 600,000 บาท ไปจนถึง 10,000,000 บาท !!!! และถ้าซื้อมานานราคาก็ยิ่งพุ่งสูงขึ้นไปอีก
“กระเป๋ารุ่นยอดฮิต Birkin Bag มีคิวรอซื้อนานที่สุด เฉลี่ยราวๆ 6 ปี !!!!”
วิธีการซื้อที่ไม่เหมือนแบรนด์อื่น
ถ้าคุณต้องการซื้อ Hermès Birkin หรือ Kelly สักใบ ต้องขอบอกเลยว่าเดินไปซื้อถึงช๊อปเขาก็ไม่ขาย แต่ถ้าคุณอยากจะครอบครองก็ต้องมีความพยายาม และศึกษาข้อมูลเยอะมาก
เช่น คุณต้องซื้อสินค้าอย่างอื่นเพื่อให้พนักงานจำได้ก่อน (ทำให้แบรนด์ สามารถขายสินค้าอื่น ๆ นอกจากกระเป๋าได้)
แสดงให้พนักงานเห็นว่าคุณมีความรู้เกี่ยวกับแบรนด์ และกระเป๋าเป็นอย่างดี แต่งตัวให้ดูดี และไม่แสดงอาการว่าอยากได้มากเกินไป คุณถึงจะมีสิทธิถูกเชิญไปซื้อกระเป๋าสองรุ่นนี้
อีกทั้ง กระเป๋า และแอคเซสเซอรี่บางชิ้นของ Hermès จะไม่มีการเปิดขายในรูปแบบออนไลน์ ถ้าอยากได้ก็ต้องเข้ามาซื้อที่ช๊อปเท่านั้น
สรุป : Hermès ไม่มีฝ่ายการตลาด แต่ทุกอย่างที่แบรนด์ทำถือเป็นกลยุทธ์การตลาดอันทรงพลัง ที่ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก และสร้างความเป็นเอกลักษณ์เหนือระดับจน สามารถ “ขายตัวเองได้” โดยไม่ต้องพึ่งฝ่ายการตลาด